กรมควบคุมโรคร่วมสร้างพันธมิตร เพื่อควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ณ ห้องประชุมประเมิน จันทวิมล ชั้น 1 อาคาร 1 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มีการลงนามสร้างความร่วมมือในการอบรม “พัฒนาศักยภาพการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อการบริการป้องกันและบำบัดรักษา สำหรับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)” ภายใต้โครงการร่วมรัฐบาลและเครือข่ายนักสาธารณสุขจัดการปัจจัยเสี่ยง (สปสส.), มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี, สภาการสาธารณสุขชุมชน และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะทางการสาธารณสุขชุมชนด้านการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภายในพื้นที่ส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่เป็นฐานของการบริการสาธารณสุขในระดับท้องถิ่น
นายนิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ได้กล่าวว่า “กรมควบคุมโรค เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรค และภัยสุขภาพของประเทศ มีเป้าหมายให้ประชาชนได้รับการป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพระดับมาตรฐานสากล ภายในปี 2580 โดยสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ มีภารกิจเพื่อสร้าง ส่งเสริมสนับสนุน และพัฒนาความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายเพื่อการดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ในประชากรไทย เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงอันเป็นสาเหตุสำคัญในการการสูญเสียปีสุขภาวะของประชากร เพื่อให้บรรลุตามเป้าประสงค์ การพัฒนาความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย การพัฒนาองค์ความรู้แก่นักสาธารณสุขจึงเป็นประเด็นสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดการดำเนินงานในระดับพื้นที่”
การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและสังคม ตามข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2564 พบว่า สถานการณ์การดื่มของคนไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ยังพบกลุ่มผู้ดื่มหน้าใหม่ในวัยทำงานเพิ่มขึ้น การอบรมเชิงปฏิบัติการซึ่งเน้นการพัฒนาความรู้และทักษะด้านการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นการนำเสนอทางแนวคิดและเทคนิคการจัดการที่เข้าใจง่ายและสามารถปรับใช้ในการบริการป้องกันและบำบัดรักษา
ดร.ไพศาล บางชวด นายกสภาการสาธารณสุขชุมชน กล่าวว่า “การจัดกิจกรรมอบรมพัฒนาศักยภาพด้านการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” โดย กรมควบคุมโรค และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ให้กับสมาชิกและผู้ประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนขึ้นในครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องที่ดีในการเพิ่มพูนทักษะความรู้และประสบการณ์ในวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน เนื่องจาก ช่วงเวลานี้มีนักสาธารณสุขบางส่วนได้เข้าสู่กระบวนการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) ไปสู่องค์กรบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แล้ว หน่วยงานดังกล่าวจึงไม่ได้ขึ้นตรงกับทางกระทรวงสาธารณสุข
การจัดกิจกรรมอบรมให้กับนักสาธารณสุข ซึ่งเป็นสมาชิกและผู้ประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนที่เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ให้มีองค์ความรู้และศักยภาพในการทำงานด้านการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับพื้นที่ เพื่อให้สอดคล้องไปกับการขับเคลื่อนงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกแอลกอฮอล์ ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ซึ่งมีตัวแทนสภาการสาธารณสุขชุมชน เข้าร่วมเป็นวิทยากรในครั้งนี้ด้วย ได้แก่
– นายอเนก ทิมทับ เลขาธิการสภา
– ดร.ปริญญา จิตอร่าม กรรมการสภาฯ
– นายนรภัทร ศรีชุม กรรมการ/โฆษกสภาฯ
– นายศักดิ์สิทธิ์ คำเกาะ กรรมการ/นายทะเบียน และ
– นางทัศนีย์ บัวคำ ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการสภาฯ
ในโอกาสนี้ ดร.ไพศาลฯ ได้กล่าวขอบคุณทาง กรมควบคุมโรค คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี และเครือข่ายนักสาธารณสุขจัดการปัจจัยเสี่ยง (สปสส.) ที่จัดให้มีกิจกรรมการอบรมพัฒนาศักยภาพขึ้นในครั้งนี้ ได้เป็นวิทยากรในการพัฒนาศักยภาพในครั้งนี้”
ผศ.ดร.วิทยา เบ็ญจาธิกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี กล่าวว่า “เป็นเกียรติอย่างสูงที่ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ในฐานะสถาบันหลักของสภาการสาธารณสุขชุมชน ได้ทำหน้าที่ในการร่วมจัดอบรมพัฒนาศักยภาพในครั้งนี้ ซึ่งคณะสาธารณสุขศาสตร์เป็นสถาบันทางการศึกษา ที่มุ่งผลิตบัณฑิตให้เป็นผู้นำทางสาธารณสุข มีความรู้ควบคู่คุณธรรมสามารถนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ทางการสาธารณสุขให้ได้มาตรฐานสากล โดยมีวิสัยทัศน์ที่สอดคล้องกับกิจกรรมนี้ คือ ให้บริการวิชาการแก่สังคม และชุมชนอย่างทั่วถึง ในด้านที่มหาวิทยาลัยมีความพร้อม และเชี่ยวชาญเพื่อให้สังคม และชุมชนพึ่งตนเอง บนพื้นฐานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”
ด้วยความร่วมมือระหว่างกรมควบคุมโรค คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี และเครือข่ายนักสาธารณสุขจัดการปัจจัยเสี่ยง (สปสส.) ที่มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะและความรู้ของนักสาธารณสุขชุมชน การควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการบำบัดรักษาในระดับพื้นที่ส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จะส่งผลทางบวกให้กับสังคมและสุขภาพของประชากรไทย ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ความร่วมมือนี้จะเป็นการสร้างพันธมิตรที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมและป้องกันปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยังเป็นการขับเคลื่อนสู่การพัฒนาสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชากรไทยอย่างยั่งยืน ด้วยความพร้อมทั้งทางวิชาการและทักษะทางการสาธารณสุขชุมชนที่มีเป้าหมายเหมาะสม ก้าวข้ามไปสู่สังคมที่เสริมสร้างคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ยั่งยืนในอนาคตอันสดใส
ที่มา: https://bkkthon.ac.th/home/th/article/post-2024
บทความที่เกี่ยวข้อง
Tag: